"เฮติ" เดือดอีกครั้ง! ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เป็นรอบที่ 3 ส่อเค้าความวุ่นวายทางการเมืองแบบไม่รู้จบ !?


ประเทศเฮติประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกา กับการเลือกตั้งที่ดูจะเป็นเรื่องราวที่หาทางจบลงได้ยากเลยจริงๆ จากการที่ล่าสุดที่ประเทศเฮติก็ได้มีการเลื่อนการจัดการเลือกตั้งกันไปเป็นรอบที่ 3 แล้ว สื่อให้เห็นได้ว่าภายในประเทศยังมีความวุ่นวายทางด้านการเมืองไม่น้อยเลยทีเดียว กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในครั้งนี้
นายปิแอร์-หลุยส์ โอปองต์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของเฮติ แถลง เรื่องการเลื่อนจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองหรือรอบชิงดำออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมคือในวันที่ 24 ม.ค. นี้ โดยให้เหตุผลเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โอปองต์ยังไม่ได้เผยอย่างชัดเจนว่า แล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะมีรัฐบาลรักษาการทำหน้าที่หลังวันที่ 7 ก.พ. หรือไม่ เนื่องจากประธานาธิบดีมิเชล มาร์เตลลี ผู้นำคนปัจจุบัน จะบริหารประเทศเป็นวันสุดท้ายในวันดังกล่าว และต้องลงจากตำแหน่งหลังจากนั้นตามกฎหมายของเฮติ ซึ่งระบุให้ผู้นำประเทศอยู่ในวาระได้คนละสมัยเดียว หรือ 5 ปีเท่านั้น


ทั้งนี้เฮติจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ปีที่แล้ว โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งนายโฮเวเนล มอยส์ นักธุรกิจส่งออกกล้วยที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน แต่ได้รับการสนับสนุนจากมาร์เตลลี ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุด คือร้อยละ 33 แต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งจึงทำให้ต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง และคู่แข่งคือนายจู๊ด เซเลสติน อดีตประธานบริษัทก่อสร้าง ซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งร้อยละ 25 ในรอบแรก แต่เซเลสตินประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งรอบชิงดำ โดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่มอยส์ การเลื่อนจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเฮติในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 โดยเลื่อนจากกำหนดการครั้งแรก คือวันที่ 27 ธ.ค. ปีที่แล้ว ต่อมามาร์เตลลีประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 17 ม.ค. แต่กลับยิ่งทำให้สถานการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นระลอกอยู่แล้ว ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก“



ด้านนายบัน คี-มุน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความกังวลการเมืองในเฮติ พร้อมเรียกร้องให้เฮติจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยไม่รั้งรอ หลังจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเฮติประกาศเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ออกไปแบบไม่มีกำหนด โดยอ้างความกังวลด้านความไม่ปลอดภัย


โดยการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายค้านของเฮติได้กล่าวหามาตลอดว่า ประธานาธิบดีมิเชล มาร์เตลลี ที่กำลังจะพ้นอำนาจและพยายามใช้กลโกงทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ผู้สืบทอดอำนาจที่เขาเลือกมาเองกับมืออย่างโชเวแนล มัวส์ เป็นฝ่ายได้เปรียบในการเลือกตั้งรอบชี้ขาดในวันอาทิตย์ (24) ก่อนหน้านี้ผลสำรวจความคิดเห็นในเฮติ บ่งชี้ บรรดาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงชาวเฮติ มีความกังขาและไม่เชื่อถือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกที่จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่สนับสนุนข้อเรียกร้องของพรรคฝ่ายค้านที่เสนอให้มีการนับคะแนน ใหม่ หลังผู้สมัครฝ่ายรัฐบาลได้คะแนนมาเป็นที่หนึ่งแบบน่าเคลือบแคลง


ขณะเดียวกันได้มีทีมนักวิจัยจากสถาบันอิการาเป ซึ่งมีฐานอยู่ในบราซิล ทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวเฮติชุดเดียวกับที่เข้าร่วมการสำรวจผลเอ็กซิต โพลล์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเฮติรอบแรกเมื่อ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจที่มีการเผยแพร่ในวันที่ 19 พ.ย.พบว่า กลุ่มตัวอย่างชุดเดียวกันเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่เชื่อว่า ผลการเลือกตั้งรอบแรกที่มีการประกาศไปเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น เป็นผลการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ทั้งที่ในวันที่มีการสำรวจเอ็กซิตโพลล์ คือ 25 ต.ค. นั้น กลุ่มตัวอย่างชุดเดียวกันนี้ราว 82 เปอร์เซ็นต์แสดงความเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ปราศจากกลโกงและการเล่นสกปรกทางการเมือง เพื่อบิดเบือน ผลการลงคะแนนของประชาชน


หากย้อนไปดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเฮติรอบแรกที่มีการประกาศออกมาแล้วนั้น ได้สร้างความกังขาให้กับประชาชนไม่น้อย หลังจากที่โชเวแนล มัวส์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งของฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายได้คะแนนนำมาเป็นอันดับที่ 1 โดยได้คะแนนเสียงถึงเกือบ 33 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆที่ผลสำรวจคะแนนนิยมของหลายสำนักก่อนหน้านี้ต่างระบุตรงกันว่า ผู้สมัครที่ถือเป็นทายาททางการเมืองของประธานาธิบดีมิเชล มาร์เตลลี รายนี้ มีคะแนนนิยมต่ำเตี้ยเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ทางการเฮติประกาศให้มัวส์เป็นผู้ชนะใน รอบแรก ด้วยคะแนนเสียงเกือบ 33 เปอร์เซ็นต์ส่งผลให้นักธุรกิจดังซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อนผู้นี้ จะได้สิทธิ์ลงแข่งขันในการเลือกตั้งผู้นำเฮติรอบชี้ขาด กับ ชูเด เซเลสแต็ง อดีตประธานบริษัทก่อสร้างของรัฐ ที่พ่ายแพ้แบบน่ากังขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2010 และเป็นผู้ที่ได้คะแนนในรอบแรกมาเป็นอันดับที่ 2 ขณะเดียวกันประเทศเฮติก็เคยประสบภัยพิบัติอย่างรุนแรงกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมือปี 2533 ความรุนแรงขนาด 7.0 ส่งผลให้มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 3 ล้าน คน ส่งผลต่อปัญหาความเป็นอยู่และเศรษฐกิจในประเทศเฮติเป็นอย่างมาก


ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งที่เฮติมาแล้วกี่ครั้งก็ตามก็จะมีประชาชนที่แสดงความไม่พอใจออกมาประท้วงกันอย่างครึกโครมกับปัญหาการทุจริตและการบริหารประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล และต้องการให้ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนี้ต้องจับตากันทุกขณะว่าเฮติจะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นอีกเมื่อไหร่ เนื่องจากในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็จะหมดวาระในการดำรงตำแหน่ง หากไม่จัดการเลือกตั้งขึ้นในเร็ววันนี้ หลังจากนี้ต่อไปสถานการณ์การเมืองในเฮติจะร้อนแรงมากน้อยเพียงใด จะมีรัฐบาลรักษาการเกิดขึ้นในประเทศหรือไม่ หรือความวุ่นวายจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ยังคงต้องจับตากันต่อไปกับการเมืองที่ดูท่าที ยากจะจบลงได้ง่ายๆ

ที่มา:http://www.tnews.co.th/html/contents/176940/

SHARE THIS

Author:

Previous Post
Next Post